โรคราแป้ง
โรคราแป้ง (Powdery mildew)
โรคราแป้งระบาดรุนแรงในช่วงต้นยางผลิใบอ่อนหลังการผลัดใบประจำปี เป็นสาเหตุให้ใบยางร่วงซ้ำ ทำให้พุ่มใบโปร่ง มีผลกระทบต่อผลผลิตและการเจริญเติบโตของต้นยาง ความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปตามระดับความต้านทานของพันธุ์ยาง ลักษณะการผลัดใบ อายุใบยางอ่อนร่วงแล้วยังทำให้ดอกร่วง ไม่ติดฝัก สูญเสียเมล็ดในการขยายพันธุ์
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Oidium heveae Steinm.
ลักษณะอาการ
อาการของโรคแตกต่างกันตามระยะการเจริญเติบโตของใบ โดยการเข้าทำลายของเชื้อในระยะผลิใบใหม่ที่มีสีน้ำตาลแดงจนถึงเขียวอ่อนก่อนใบเพสลาด เนื้อเยื่อเปลี่ยนเป็นสีดำ ทำให้ใบบิดงอ เหี่ยวแห้งและร่วง ส่วนก้านใบจะร่วงในเวลาต่อมา
หากระบาดในระยะใบเพสลาด จะสังเกตุเห็นกลุ่มของเส้นใย และสปอร์ของเชื้อราสีขาวคล้ายผลแป้งเจริญบนผิวใบชัดเจน เนื้อเยื่อบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีน้ำตาลอมเหลือง และสีน้ำตาลตามลำดับ รอยแผลมีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอนตามขอบเขตที่เชื้อราเจริญอยู่ ถ้าอากาศเหมาะสมต่อเนื่องจะเกิดการเข้าทำลายรุนแรง ใบร่วงซ้ำ กิ่งแขนงบางส่วนแห้งตาย
สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด
ช่วงที่ต้นยางผลิใบอ่อน หากมีฝนตกเล็กน้อยหรือกลางวันอากาศค่อนข้างร้อน กลางคืนอากาศเย็น มีความชื้นสูง มีหมอกในตอนเช้าจะเกิดโรครุนแรง
พืชอาศัย
มีหลายชนิด เช่น หญ้ายาง เงาะ เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1. เขตที่มีการระบาดของโรครุนแรง ไม่ควรปลูกยางพันธุ์อ่อนแอ เช่น PB235 สถาบันวิจัยยาง226 การเลือกพันธุ์ยางควรคำนึงถึงลักษณะการผลัดใบ พันธุ์ยางที่ผลัดใบเร็วจะหลีกเลี่ยงโรคได้ดีกว่า
2. เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยเคมีในช่วงปลายฤดูฝนตามคำแนะนำ เพื่อให้ใบที่ผลิออกมาใหม่สมบูรณ์และแก่เร็ว พ้นระยะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อ
3. หากพบการระบาดของโรค ใช้สารเคมีฉีดพ่นใบยางอ่อน
แหล่งที่มา : คำแนะนำโรคและอาการผิดปกติของยางพารา ปี 2555, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร