โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอร่า
โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอรา (Phytophthora leaf fall)
เชื้อราไฟทอฟธอราเข้าทำลายได้ทั้งใบ ก้านใบ กิ่งแขนงสีเขียว ฝักยาง นอกจากนี้เข้าทำลายหน้ากรีด ทำให้เกิดอาการโรคเส้นดำได้ ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน พันธุ์ยางอ่อนแอใบจะร่วง ทำให้ผลผลิตลดลง
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryosa Chee, P. palmivora (Butl.) Butl.
ลักษณะอาการ
ใบยางร่วงทั้งที่ยังมีสีเขียวสด ใบย่อยหลุดออกจากก้านใบได้ง่าย ที่ก้านใบมีรอยแผลช้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำ และมีน้ำยางจับเป็นหยดเล็ก ๆ สีขาวเกาะติดอยู่ อาจพบเข้าทำลายที่แผ่นใบ เกิดแผลมีลักษณะช้ำน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงดำ เชื้อยังสามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะ ทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่น กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคสะสมในแปลง
ในต้นยางเล็ก หากเชื้อราเข้าทำลายยอดอ่อน กิ่งอ่อน อาจะทำให้เกิดอาการตายจากยอด
สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด
ช่วงที่มีฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันหลายวัน
พืชอาศัย
มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น ทุเรียน ส้ม พริกไทย ปาล์มน้ำมัน โกโก้ มะละกอ เป็นต้น
การป้องการกำจัด
1. แหล่งปลูกยางที่เป็นเขตระบาดของโรค ไม่ควรเลือกปลูกยางพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น RRIM600
2. กำจัดวัชพืช และตัดแต่งกิ่งในสวนยางให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
3. ต้นยางใหญ่ที่เป็นโรครุนแรงจนใบร่วงหมด ควรหยุดกรีดและใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์
4. ต้นยางเล็กที่เริ่มแสดงอาการตายจากยอด ให้ตัดยอดต่ำกว่ารอยแผลประมาณ 5 เซนติเมตร
5. ในแปลงขยายพันธุ์ยาง ควรแยกต้นยางชำถุงที่เป็นโรคออกจากแปลง และฉีดพ่นสารเคมีเพื่อควบคุมการระบาดของโรค
แหล่งที่มา : คำแนะนำโรคและอาการผิดปกติของยางพารา ปี 2555, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร