โรคใบร่วงชนิดใหม่
โรคใบร่วงชนิดใหม่ (New disease)
โรคใบร่วงชนิดใหม่นี้ยังไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน สันนิษฐานว่าเกิดจากกระแสลมมรสุมที่พัดพาสปอร์ (ส่วนขยายพันธ์ุ) ของเชื้อราสาเหตุจากประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ผ่านเข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน พบการระบาดจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเข้าสู่ภาคใต้ตอนบน และพื้นที่บางส่วนของภาคตะวันออกแล้ว
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อราสกุล Colletotrichum และสกุล Pestalotiopsis
ลักษณะอาการ
อาการเกิดขึ้นในใบแก่ เริ่มแรกจะเกิดรอยช้ำค่อนข้างกลมบริเวณใต้ใบ ผิวใบด้านบนของบริเวณเดียวกันเป็นสีเหลือง (chlorosis) ต่อมาเนื้อเยื่อบริเวณนี้จะขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีคล้ำขอบแผลดำและกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้ง (necrosis) สีน้ำตาลจนถึงขาวซีด
สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด
ช่วงที่มีความชื้นสูงในระยะใบแก่ และพันธุ์ยางทุกพันธุ์อ่อนแอต่อการเกิดโรคเชื้อรา สามารถแพร่กระจายโดยลม ฝน การเคลื่อนย้ายกล้าพันธุ์หรือวัสดุปลูกในแปลงที่เกิดโรค
พืชอาศัย
มีพืชอาศัยค่อนข้างกว้าง เช่น วัชพืช สมุนไพร พืชผักสวนครัว ไม้ผลบางชนิด และพืชจำพวกเฟิน เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1. หมั่นสำรวจแปลงยางพาราอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก หากพบต้นยางพารามีทรงพุ่มไม่สดชื่น ใบร่วง ให้ตรวจสอบอาการของโรคบนใบ
2. หลีกเลี่ยงการนำกล้ายางพาราหรือวัสดุปลูกจากแหล่งที่พบการระบาดเข้าสู่พื้นที่
3. บำรุงและเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงให้ต้นยางพารา เช่น การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และใส่ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโตของยางพารา
4. ใช้ระบบกรีดยางตามคำแนะนำของการยางแห่งประเทศไทย
5. กำจัดใบยางพาราที่เกิดโรคหรือวัชพืช ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมหรือพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค
6. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อกำจัดและควบคุมเชื้อราสาเหตุโรคบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นบริเวณพื้น สำหรับการหว่าน ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมปุ๋ยอินทรีย์ 100 กิโลกรัม และรำ 4 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือสำหรับการฉีดพ่น ใช้อัตราเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำหรือน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ อัตรา 200 ลิตร ควรหว่านหรือฉีดพ่นให้ครอบคลุมบนใบยางพาราที่ร่วงหล่นทั่วทั้งสวน ทุก 3 เดือน
7. ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืชตามคำแนะนำเบื้องต้นของการยางแห่งประเทศไทย โดยฉีดพ่นพุ่มใบยางจากใต้ทรงพุ่ม อัตรา 150-200 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตรต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยฉีดพ่นทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ จำนวน 2-3 ครั้ง เช่น คาร์เบ็นดาซิม หรือโพรพิโนโคนาโซล หรือเฮกซะโคนาโซล
แหล่งที่มา : โรคใบร่วงชนิดใหม่ของยางพารา ปี 2565, กรมวิชาการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย