โรคใบจุดก้างปลา

โรคใบจุดก้างปลา (Corynespora leaf disease)

โรคใบจุดก้างปลาเข้าทำลายใบได้ทุกระยะ ทำให้ใบร่วง ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต และเกิดอาการตายจากยอด ในพันธุ์อ่อนแอหากเกิดโรครุนแรงทำให้ยืนต้นตายได้ แปลงกล้ายางที่เกิดโรคระบาดจะไม่สามารถติดตาได้ โรคนี้ทำความเสียหายรุนแรงกับยางพันธุ์ RRIC110 ในภาคตะวันออก และยังระบาดค่อนข้างรุนแรงในยางพันธุ์ RRIM600 จึงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อรา Corynespora cassiicola (Berk. & Curt.) Wei

ลักษณะอาการ

อาการของโรคมีลักษณะต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์และระยะการเจริญเติบโต อาการบนใบที่พบมีจุดแผลลักษณะกลม หรือรูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเล็กไปจนถึงแผลขนาดใหญ่ กลางแผลแห้ง มีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบรอยแผลมีสีเหลือง บางครั้งอาจพบเนื้อเยื่อบริเวณกลางแผลยุบตัวมีลักษณะเป็นวงซ้อนกัน เนื้อเยื่อกลางแผลที่แห้งอาจขาดเป็นรู ถ้าแผลขยายลุกลามเข้าไปตามเส้นใบ ทำให้แผลมีลักษณะคล้ายก้างปลา

หากสภาพอากาศเหมาะสมในระยะใบยางสีเขียวอ่อนหลังการผลัดใบ จะปรากฏอาการโรครุนแรงภายใน 2 สัปดาห์ เกิดอาการใบไหม้แห้ง เป็นสีน้ำตาลซีด และร่วง ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง อาจแตกใบใหม่และถูกเชื้อเข้าทำลายซ้ำอีก ยอดอ่อนที่ถูกทำลายเป็นแผลรูปกระสวย สีน้ำตาลขยายไปตามความยาวของลำต้น ทำให้กิ่งแห้ง เปลือกแตก และยืนต้นตายในที่สุด

สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด

ช่วงใบอ่อนที่มีสภาพอากาศร้อน ความชื้นสูง และมีฝนตกเป็นครั้งคราว

พืชอาศัย

เชื้อรา สาเหตุมีพืชอาศัยจำนวนมาก เช่น งา ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ฝ้าย ป่านรามี ยาสูบ ระย่อม มะละกอ แตงโม มะเขือเทศ ผักกาดหอม สะระแหน่ ฟักเขียว หญ้ายาง พืชคลุมตระกูลถั่ว เป็นต้น

ลักษณะใบยางพาราที่เริ่มเป็นโรคใบจุดก้างปลา
การป้องกันกำจัด

1. ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอในพื้นที่ที่สภาพอากาศเหมาะสมต่อการระบาดของโรค เช่น พันธุ์ RRIC110 ฉะเชิงเทรา50 RRIM600

2. ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ตามคำแนะนำ

3. หากเกิดการระบาดรุนแรง ต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ควรติดตาเปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานโรค

4. แหล่งที่มีโรคระบาด ควรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ฉีดพ่นในแปลงขยายพันธุ์เพื่อป้องกันโรค และฉีดพ่นต้นยางเล็กในช่วงผลิใบอ่อนหลังจากการผลัดใบประจำปี

แหล่งที่มา : คำแนะนำโรคและอาการผิดปกติของยางพารา ปี 2555, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร