โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อคอลเลโทตริกัม
โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อคอลเลโทตริกัม (Colletotrichum leaf spot)
โรคนี้เข้าทำลายใบอ่อนของต้นยางได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทั้งในแปลงขยายพันธุ์และแปลงปลูก พบการระบาดของโรคได้เกือบตลอดทั้งปี แต่จะรุนแรงในสภาพอากาศชื้น ทำให้ใบร่วง ในพันธุ์อ่อนแอหากเกิดโรครุนแรงทำให้เกิดอาการตายจากยอด
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Sacc. และ Colletotrichum sp.
ลักษณะอาการ
อาการจุดนูน ใบอ่อนจะถูกเชื้อเข้าทำลายรุนแรง ปลายใบบิดงอ เหี่ยวแห้งและร่วง ในระยะใบเพสลาดใบยางบางส่วนอาจบิดงอ และพบจุดแผลสีน้ำตาล ขอบแผลมีสีเหลือง ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ต่อมาจุดเหล่านี้จะนูนขึ้น เนื้อเยื่อตรงกลางแผลอาจทะลุเป็นรู หากสภาพอากาศชื้นต่อเนื่องเชื้อจะเข้าทำลายกิ่งอ่อนหรือยอดอ่อน ทำให้เกิดการตายจากยอด
อาการแอนแทรคโนส มักเกิดกับต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ดินทราย ดินด่าง หรือพื้นที่ระบายน้ำไม่ดี รอยแผลบนใบมีขนาดต่าง ๆ กัน เนื้อเยื่อกลางแผลมีลักษณะลายเส้นเป็นวงซ้อนกันสีดำ ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบรอยแผลมีสีเหลือง อาการขั้นรุนแรงใบจะเหลืองและร่วง บริเวณลำต้นอ่อนอาจพบรอยแผลเป็นวงรีสีน้ำตาล และขยายใหญ่ขึ้นจนลุกลามไปรอบต้น ทำให้ต้นยางตาย
สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด
ช่วงใบยางอ่อน ถ้ามีฝนตกต่อเนื่อง มีอุณหภูมิและความชื้นสูงจะระบาดรุนแรง
พืชอาศัย
มีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม ชา กาแฟ โกโก้ อะโวคาโด เป็นต้น
การป้องกันกำจัด
1. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำ ควรแบ่งใส่ครั้งละน้อยแต่ให้บ่อยครั้ง
2. จัดการการะบายน้ำในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดี
3. ควรใช้สารเคมีฉีดพ่น เพื่อควบคุมการระบาดของโรคในแปลงขยายพันธุ์ หรือหากเกิดโรครุนแรงในแปลงปลูกที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
แหล่งที่มา : คำแนะนำโรคและอาการผิดปกติของยางพารา ปี 2555, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร