โรคใบจุดตานก
โรคใบจุดตานก (Bird’s eye spot)
โรคใบจุดตานก มักระบาดในแปลงกล้ายางที่ปลูกไว้เป็นต้นตอสำหรับติดตา โดยปกติไม่ทำให้ต้นยางตาย แต่ทำให้ใบร่วง ชะงักการเจริญเติบโต จึงต้องใช้เวลานานกว่าต้นยางจะได้ขนาดติดตาและนำไปปลูกได้
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Drechslera (Helminthosporium) heveae (Petch) M.B. Ellis
ลักษณะอาการ
ถ้าเชื้อราเข้าทำลายในระยะที่ใบยังอ่อนมาก ลักษณะอาการจะไม่แตกต่างจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดอื่น ๆ แผ่นใบจะบิดงอ เหี่ยวแห้ง และร่วง เหลือแต่ยอด ใบยางที่มีอายุมากขึ้นจะปรากฎรอยแผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร เนื้อเยื่อกลางแผลมีสีซีด มีลักษณะโปร่งแสง ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม ในใบยางแก่อาจพบเป็นเพียงรอยสีน้ำตาลเข้มเท่านั้น
สภาพที่เหมาะสมต่อการระบาด
โรคนี้ระบาดรุนแรงในแปลงกล้ายางที่ปลูกในพื้นที่ดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แพร่ระบาดในสภาพอากาศร้อนชื้น
การป้องกันกำจัด
1. ไม่ควรเลือกพื้นที่ปลูกต้นกล้ายางที่เป็นดินทราย
2. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ช่วยปรับโครงสร้างดิน
3. ถ้ามีโรคระบาดรุนแรง ใช้สารเคมีฉีดพ่นทุกสัปดาห์ติดต่อกันจนกว่าต้นยางจะมีใบใหม่สมบูรณ์
แหล่งที่มา : คำแนะนำโรคและอาการผิดปกติของยางพารา ปี 2555, สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร